ประเพณีรำบูชาพระธาตุพนม

การฟ้อนรำ  การบรรเลงพิณพาทย์  มโหรี  ดนตรีถวายเป็นพุทธบูชาองค์พระธาตุพนม  เป็นประเพณีอันดีงามอย่างหนึ่งของชาวพุทธ  ซึ่งถือปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านานแล้ว  เช่นในงานนมัสการพระธาตุพนม  และงานฉลองสมโภสในโอกาสพิเศษ  เป็นต้น

พระธาตุพนมเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาของคนทั่วไป  เป็นชีวิตจิตใจ  เวลาจะไปทำมาค้าขายในถิ่นอื่น  ไปศึกษาเล่าเรียน  ไปรับราชการ  หรือแม้แต่ไปทำไร่  ทำนา  ทำสวน  ก็ต้องไปกราบไหว้เพื่อขอพรและขอความเป็นสิริมงคล  เพื่อความเจริญก้าวหน้า  และเพื่อความสำเร็จดังปรารถนา

การฟ้องรำบูชาพระธาตุพนม  ถ้าถือตามตำนานแล้วมีมาตั้งแต่สร้างพระธาตุพนมในยุคแรก  คือยุคของพระมหากัสสปะเถระและพญาทั้ง  5  แห่งอาณาจักรศรีโคตรบูร  ในยุคต่อมาก็ได้ปรากฏว่ามีการฟ้อนรำบูชาองค์พระธาตุพนมเช่นเดียวกัน  แต่มิได้กระทำติดต่อกันทุกปี  มูลเหตุของการฟ้อนรำบูชาองค์พระธาตุพนมในอดีตนั้น  สืบเนื่องมาจากพระธาตุพนมเป็นเจดีย์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง  เป็นที่เคารพบูชา  เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั้งสองฝั่งโขง  ด้วยแรงศรัทธาผลักดันให้เกิดการเคารพบูชาในลักษณะแตกต่างกัน  ทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา  สำหรับอามิสบูชานั้น  นอกจากจะบูชาด้วยดอกไม้  ธูปเทียน  และถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแล้ว  ยังมีการบรรเลงพิณพาทย์  มโหรี  การแสดงฟ้อนรำบูชาในโอกาสอันควรด้วย  โดยเชื่อว่าการแสดงออกเป็นกุศลและความดีงามอย่างหนึ่ง  ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม

จังหวันครพนมได้ริเริ่มฟื้นฟูการรำบูชาพระธาตุพนมขึ้นในปี  พ.ศ.  2530  เป็นต้นมา  โดยจัดให้มีการรำบูชาพระธาตุพนมขึ้นในวันขึ้น  15  ค่ำ  เดือน  11  ภาคเช้า  บริเวณหน้าวัดพระธาตุพนม  และจัดให้มีประเพณีไหลเรือไฟที่จังหวัดนครพนมในตอนกลางคืน